เบื้องหลังความสำเร็จของการเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏอันดับ 1 ของประเทศไทยเป็นสมัยที่ 11

เบื้องหลังความสำเร็จของการเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏอันดับ 1 ของประเทศไทยเป็นสมัยที่ 11



หลังการประกาศผลการจัดอันดับคุณภาพด้านวิชาการของเว็บโอเมตริกส์จากประเทศสเปน ของเดือนมกราคม 2563 Webometrics Ranking January 2020 ปรากฏว่า “สวนสุนันทา” ขึ้นแท่นครองแชมป์กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏได้อีกครั้ง โดยในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล “มทร.ธัญบุรี” ครองอันดับ 1 ส่วน “ม.รังสิต” คว้าอันดับ 1 ม.เอกชน และ“จุฬาฯ”ก็สามารถกลับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของประเทศได้อีกครั้ง

ในกลุ่มของมหาวิทยาลัยราชภัฏ “สวนสุนันทา” เป็นอันดับที่ 18 ของประเทศไทย และอันดับ 2,452 ของโลก ดีขึ้นจากการประกาศอันดับเมื่อเดือนกรกฏาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่อันดับที่ 19 ของประเทศและอันดับที่ 2477 ของโลก โดยครั้งนั้นดีขึ้นจากเดิมที่อยู่ 2986 ถึง 509 อันดับ ส่วนครั้งล่าสุดนี้ดีขึ้นไปอีก 25 อันดับ

เบื้องหลังแห่งความสำเร็จ คงต้องชื่นชมวิสัยทัศน์ของ “รองศาสตราจารย์ ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย” อธิการบดีคนปัจจุบัน ที่เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการก้าวออกจาก comfort zone ซึ่งสถาบันการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาของไทยส่วนใหญ่อิงแอบกับความอบอุ่นและปลอดภัยมานานแสนนาน

หากผู้นำในวันนั้น ไม่มีความกล้าที่จะฉีกออกมาจากกรอบดั้งเดิมสู่โลกภายนอกที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว วันนี้ชะตากรรมของ “สวนสุนันทา” ก็คงไม่แตกต่างจากหลาย ๆ สถาบันการศึกษาที่มีแต่ความเหี่ยวเฉา โรยราและรอวันที่จะต้องปิดตัวลง ทั้งจากสภาวะ disruptive technology หรือการเข้าสู่สถานการณ์สังคมสูงวัย

รองศาสตราจารย์ ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย” เคยประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนต่อสังคมเมื่อกว่า 7 ปีที่ผ่านมาว่า สวนสุนันทากำลังเตรียมความพร้อมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเอตทัคคะนานาชาติ และในอนาคต สวนสุนันทาจะเป็นองค์กรสมรรถนะสูง นั่นหมายความว่า จะต้องมีความสง่างาม กะทัดรัด ศักยภาพของบุคลากรและคุณภาพของบัณฑิตอยู่ในระดับสูง แม้สภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจจะทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบได้ ซึ่งปัญหาใหญ่ก็คือภาวะลดลงของจำนวนนักเรียนชั้น ม.6 อันเป็นปัญหาทางสังคมทั่วโลก สวนสุนันทาจึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือในวันข้างหน้าว่าจะปรับองค์กรเพื่อต่อสู้กับปัญหานี้อย่างไร จะคิดแต่เพียงรับนักเรียนตามเกณฑ์จึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่จะต้องมองหาโอกาสในการปรับตัว เช่นรับนักศึกษาต่างชาติ หรือปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นไปที่บุคคลในวัยทำงานเป็นต้น

“การรักษาอันดับ 1 ในกลุ่มของมหาวิทยาลัยราชภัฏของประเทศไทยไว้ได้อีกครั้งนั้น เป็นวิสัยทัศน์เบื้องต้นของคณะผู้บริหารที่ได้วางเป้าหมายไว้ว่า ในบรรดามหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 200 แห่งนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาควรจะอยู่ใน 15 อันดับแรก ส่วนอันดับในมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งมี 38 แห่ง เราจะต้องขึ้นมาเป็นที่ 1 ส่วนในระดับนานาชาติ ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องอยู่ในอันดับ 1 ถึง 150 ให้ได้ และหลังจากมีเป้าหมายในการพัฒนาแล้ว คณะผู้บริหารจึงดำเนินการ และได้เลือกสถาบัน Webometrics Ranking จากประเทศสเปน ซึ่งได้รับการการยอมรับว่าเป็นองค์กรอ้างอิงชี้วัดคุณภาพมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีเป้าหมายว่าจะเป็น 1 ใน 10 ของมหาวิทยาลัยไทย ที่ติดอันดับระดับโลก ซึ่งจัดโดย QS World Universities Ranking อีกด้วย อันจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้เข้าไปรับการจัดอันดับ ซึ่งนับแต่นี้ต่อไปเราคงจะไม่หยุดยั้งอยู่แค่ที่ 1 ของประเทศเท่านั้น ต้องเดินหน้าพัฒนาสู่ระดับนานาชาติกันให้ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า หากเรามีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล การชักชวนหรือจูงใจนักศึกษาทั้งไทยและต่างประเทศมาเรียนที่เราก็จะง่ายขึ้น และจะเป็นการแก้ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างได้ผล”

…………………………….

แม้สถานการณ์ของวงการศึกษาไทย โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาถือว่าอยู่ในช่วง “วิกฤติ” จากสาเหตุสำคัญ ๆ คือ อัตราการเกิดของประชากรลดน้อยลง รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่พลิกโลกจนสั่นสะเทือนไปทุกวงการ แต่หากองค์กร หรือสถาบันใดมี “ผู้นำ” ที่กล้านำพาบุคลากรเดินหน้าเพื่อเผชิญกับทุกปัญหาที่ท้าทาย ก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว และวิกฤตินั้นก็อาจจะกลายเป็นโอกาสดี ๆ ให้เราได้ภาคภูมิใจ

ดั่งเช่นชาว “สวนสุนันทา” ที่ได้ก้าวขึ้นไปคว้าตำแหน่ง “ราชภัฏอันดับ 1 “ มาถึง “11 สมัย” แล้วในวันนี้

………………………

ข้อมูลการจัดอันดับ

http://www.webometrics.info/en/Asia/Th


ที่มาจาก : https://thaiedunews.net



Top